วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

“คาบอแนกซ์” นวัตกรรมวัสดุทดแทนไม้ - ฉลาดคิด

   
    
“ไม้” ยังคงเป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้งานทั้งภายในและภาย นอก แต่เนื่องด้วยปริมาณป่าไม้ที่ลดจำนวนลงอย่างมาก ประกอบกับข้อจำกัดของไม้หากนำมาใช้งานภายใต้สภาวะที่มีความชื้นสูงอาจเกิดการบวมตัว ผุพังได้ง่ายจากสภาพอากาศและปลวก
 
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้  “นายวิชัย โรซาพิทักษ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี.พี.วู๊ด จำกัด ผู้ผลิตและพัฒนาไม้ผสมพลาสติก ภายใต้ชื่อ “คาบอแนกซ์” (Cabonyx ) เกิดแนวคิดที่จะผลิตวัสดุทดแทนไม้จากพีวีซีและผงขี้เลื่อยไม้

      
จึงเข้ารับการสนับสนุนทางด้านการวิจัยร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุ คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  (มจธ. )ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)และโครงการการสร้างกำลังคนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม ฝ่ายวิชาการ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภายใต้โครงการวิจัยชื่อ “การพัฒนาวัสดุผสมพีวีซีและผงขี้เลื่อยไม้เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานภายนอก” โดยมี น.ส.กัลทิมา เชาว์ชาญชัยกุล นักศึกษา คปก. เป็นผู้ดำเนินการวิจัย
         
ศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวว่า โครงการเกี่ยวกับวัสดุทดแทนไม้นี้ได้เริ่มดำเนินการวิจัยมาตั้งแต่ปี 2544 โดยเริ่มตั้งแต่การพัฒนา ให้สามารถขึ้นรูปชิ้นงานได้ ต่อด้วยการพัฒนาความสามารถในการรับแรง และพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

          
โดยโจทย์วิจัยในครั้งนี้ คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนไม้จากวัสดุผสมพีวีซีและผงขี้เลื่อยไม้ให้มีความทนทานต่อการใช้งานกลางแจ้ง และปลอดภัยต่อผู้ใช้งานมากขึ้น
 
ด้าน น.ส.กัลทิมา  ในฐานะผู้ดำเนินการวิจัยบอกว่า งานวิจัยนี้เป็นการต่อยอดมาจากผลิตภัณฑ์เดิมของบริษัทฯ ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  โดยปรับปรุงในสองส่วนหลัก ๆ คือ การปรับปรุงให้ทนต่อแสงยูวี และการปรับปรุงความเสื่อมสภาพเนื่องจากความร้อน
 
และจากการพัฒนาต่อยอดดังกล่าวทำ ให้ได้ข้อมูลพื้นฐาน ให้กับทางบริษัทในการเลือกใช้สูตรวัสดุผสมได้อย่างเหมาะสมกับการนำไปใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานกลางแจ้ง ซึ่งต้องเผชิญกับแสงยูวี ความร้อนและความชื้น และที่สำคัญเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยจากโลหะหนักและตะกั่ว จึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน
   
 
ซึ่งนอกจากจะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมกลางแจ้งแล้วยังมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาดให้กับภาคเอกชน และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เช่น วงกบประตู ไม้ระแนง ไม้พื้นภายนอก รวมถึงช่วยขยายตลาดให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะประเทศในหมู่เกาะ เช่น มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ อีกด้วย
 
และถือเป็นทางเลือกใหม่เพื่อตอบสนองการใช้งานของลูกค้า และยังช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยลดการใช้ไม้จริง และนำของเหลือใช้อย่าง “ขี้เลื่อย” มาใช้ให้เกิดประโยชน์.

ที่มา : http://www.dailynews.co.th/technology/161421