วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

‘โซลาร์เฮาส์’ บ้านผลิตกระแสไฟฟ้า

  

นวัตกรรมเพื่ออนาคต ‘โซลาร์เฮาส์’ บ้านผลิตกระแสไฟฟ้า



             
การ “ผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์” ด้วย “โซลาร์เซลล์” สมัยก่อนมีกระแสประมาณว่าไม่คุ้มทุน แต่ปัจจุบันกำลังแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกมุมโลก รวมถึงในประเทศไทยเรา ซึ่งก็ไม่เพียงมีการดำเนินการในลักษณะของแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของรัฐเท่านั้น กับการทำตามอาคารบ้านเรือนก็มี

นับวัน ’บ้านโซลาร์เซลล์“ จะน่าสนใจขึ้นเรื่อย ๆ

และในไทยเรา ’บ้านโซลาร์เซลล์“ ก็น่าสนใจมาก

“พลังงานธรรมชาติจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่ไม่มีวันหมด สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในอาคารบ้านเรือนของประชาชนได้ จึงเป็นที่มาของแนวคิด โครงการนวัตกรรมบ้านโซลาร์เซลล์เพื่ออนาคต (Solar House for Future Green Living) ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์แบบมืออาชีพ ที่คณาจารย์และนักศึกษาได้ร่วมกันนำเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์มาออกแบบติดตั้งกับบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียม เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับภาคประชาชนใช้ในครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ ทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากส่วนกลาง อีกทั้งนำเสนอการใช้แผงโซลาร์เซลล์มาตกแต่งเพิ่มความสวยงามให้กับบ้านได้อย่างกลมกลืน เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย...” …นี่เป็นการระบุของ วิเชียร อุษณาโชติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) อันสืบเนื่องจากกิจกรรมแสดงนวัตกรรม โซลาร์เฮาส์ หรือ บ้านโซลาร์เซลล์ ในงานสถาปนิก 56

ในกิจกรรมนี้ก็ยังมีการเสวนา ’เคล็ด (ไม่) ลับ กับบ้านโซลาร์เซลล์“ โดย โชคชัย อัศวรังสฤษฎ์ ผอ.อาวุโสสายพัฒนาธุรกิจ บมจ.บางจากปิโตรเลียม นักวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 3 สถาบันคือ ดร.สัทธา ปัญญาแก้ว มหาวิทยาลัยศิลปากร อ.ยุทธนา ทองท้วม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.กนกวรรณ อุสันโน มหาวิทยาลัยศรีปทุม และ พโยมสฤษฎ์ ศรีพัฒนานนท์ ผอ.กองวางแผนแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก กฟภ.  

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกิจกรรมครั้งนี้ ระบุว่า...ไทยมีศักยภาพรับพลังงานแสงอาทิตย์ในเกณฑ์สูง พื้นที่ส่วนใหญ่ได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์เฉลี่ยวันละ 4.7-5.5 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อตารางเมตร (แถบยุโรป
มีค่าเฉลี่ยวันละ 3-4 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อตารางเมตร) โดยค่าเฉลี่ยแสงอาทิตย์ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 4-8 ชั่วโมง ขณะที่โซลาร์เซลล์ขนาด 1 กิโลวัตต์จะผลิตไฟฟ้าได้ 3-4 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งปริมาณแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งสถานที่ ความสูงจากระดับน้ำทะเล สภาพท้องฟ้า อย่างกรุงเทพฯ ก็มีแสงที่มีความเข้มสูง แต่แปรปรวน ท้องฟ้ามักมีเมฆมาก ทว่าก็มีศักยภาพดีกว่าเยอรมนีที่มีกำลังติดตั้งโซลาร์เซลล์เป็นอันดับ 1 ของโลก เกือบ 2 เท่า

การติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในบ้านเรือนนั้น สามารถติดตั้งได้ทั้งบนหลังคาบ้าน บนหลังคาโรงจอดรถ และบนพื้นดิน เพียงแต่ต้องเป็นตำแหน่งที่สามารถรับแสงอาทิตย์ได้ดีตลอด
ทั้งวันตลอดทั้งปี ไม่มีต้นไม้ สิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ภูเขา เสาอากาศ จานดาวเทียม ฯลฯ บังแสงอาทิตย์

ไม่ควรติดตั้งโซลาร์เซลล์ตรงสถานที่ที่มีฝุ่นหรือไอระเหยจากน้ำมันมาก หรือมีการสั่นสะเทือนตลอดเวลา โซลาร์เซลล์ตามอาคารบ้านเรือนนิยมติดตั้งบนหลังคาเพราะไม่สิ้นเปลืองพื้นที่ โดย หลังคาบ้านทั้งที่เป็นหลังคาหน้าจั่ว หลังคาดาดฟ้าคอนกรีต หลังคากระเบื้อง หลังคาเมทัลชีต หลังคาไม้ สามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี การติดตั้งก็จำเป็นจะต้องคำนึงถึงความแข็งแรงของโครง
สร้างหลังคาด้วย ซึ่งโซลาร์เซลล์ขนาด  210-225 วัตต์ ขนาดแผง  1,520 x 995 x 46 มิลลิเมตร จะมีน้ำหนักประมาณ 21 กิโลกรัม และควรเว้นช่องว่างระหว่างโซลาร์เซลล์กับหลังคา เพื่อเป็นฉนวนกันความร้อน และเพื่อช่วยระบายความร้อนใต้แผง

ในประเทศไทยนั้น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตำแหน่งที่ตั้งจะอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 15 องศาเหนือ ดังนั้นจะต้องหันหน้าแผงไปทางทิศใต้ โดยทำมุมเอียง 15 องศา

ทั้งนี้ เหล่านี้ก็เป็นโดยสังเขปเกี่ยวกับ “เคล็ด (ไม่) ลับ กับบ้านโซลาร์เซลล์” อันสืบเนื่องจาก “โครงการนวัตกรรมบ้านโซลาร์เซลล์เพื่ออนาคต” ของ บมจ.บางจากปิโตรเลียม ที่ได้รับความร่วมมือจาก
สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณาจารย์ นักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จาก 12 สถาบันอุดมศึกษา คือ...เกษตรศาสตร์ ขอนแก่น เชียงใหม่ เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ธรรมศาสตร์ นเรศวร มหาสารคาม ศรีปทุม ศิลปากร อัสสัมชัญ ซึ่งร่วมกันออกแบบบ้านโซลาร์เซลล์ ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ คอนโดมิเนียม และพร้อมเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน รวมถึงเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์นำไปใช้พัฒนาโครงการ ในขณะที่ กฟภ. ก็ให้ข้อมูลควรรู้คือ การจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ตามบ้านเรือนนั้น จะต้องมีการขออนุญาตจากทางการไฟฟ้าฯ ก่อน ซึ่งจุดนี้ก็สำคัญ

’บ้านโซลาร์เซลล์“ กับคนไทยทั่วไปยังทำได้ไม่ง่าย

แต่ก็เป็นไปได้ และความยากกำลังลดลงเรื่อย ๆ

กับกิจกรรมที่ว่ามาข้างต้นก็เป็นอีกก้าวสำคัญ

สำหรับ ’บ้านในอนาคต“ ของคนไทย.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/223/202615


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น