วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อุทยานแห่งชาติภูเวียง จังหวัดขอนแก่น





คำว่า “ภูเวียง” เป็นท้องที่อำเภอที่เก่าแก่ของจังหวัดขอนแก่นอำเภอหนึ่ง และยังเป็นชื่อเรียกของเทือกเขาซึ่งปัจจุบันได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ ป่าภูเวียงให้เป็นอุทยานแห่งชาติ อยู่ในท้องที่อำเภอภูเวียง อำเภอสีชมพู อำเภอชุมแพ และกิ่งอำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่น มีหลักฐานว่าป่าภูเวียงเคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่มีอารยธรรมเมื่อหลายพันปี ล่วงมาแล้ว มีการขุดพบกระดูกมนุษย์โบราณ เครื่องมือ เครื่องใช้ โลหะสำริด พระนอนสมัยทวาราวดี รวมทั้งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำ (หลืบเงิน) บนเทือกเขาภูเวียง นอกจากนั้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2519 มีการค้นพบรอยเท้าและซากกระดูกไดโนเสาร์ และสัตว์โลกดึกดำบรรพ์อายุเกือบ 200 ล้านปี ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยและเสด็จทอดพระเนตร เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2532

เดิมป่าภูเวียงได้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 64 พ.ศ. 2508 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2508 และได้เปิดการทำไม้ในพื้นที่ดังกล่าวตามเงื่อนไขของรัฐบาล โดยมีบริษัทขอนแก่นทำไม้เป็นผู้รับสัมปทาน จากการที่พลเอกหาญ สีนานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปตรวจราชการและทำการบินตรวจสภาพป่าทางอากาศ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2530 พบว่า สภาพป่าบางส่วนมีสภาพสมบูรณ์ดี จึงดำริให้สงวนป่าที่สมบูรณ์ไว้เป็นอุทยานแห่งชาติ และให้จัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบและติดตามผลการทำไม้ตามเงื่อนไขสัมปทานใน ส่วนที่ได้ผ่านการทำไม้แล้วและที่กำลังดำเนินการทำไม้อยู่ ผลการตรวจสอบโดยคณะเจ้าหน้าที่จาก กอ.รมน.ภาค 2 และเจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2530 ปรากฏว่า การทำไม้ในป่าสัมปทานโครงการภูเวียง (ขก.2) ตอน 7 แปลง 21 โดยบริษัทขอนแก่นป่าไม้ ได้ดำเนินการทำไม้ตามระเบียบ นโยบาย และเงื่อนไขสัมปทาน และได้เหลือไม้ที่สงวนไว้พอประมาณ ตามหนังสือรายงานของจังหวัดขอนแก่นที่ ขก 0009/21641 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2530 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีบันทึกสั่งการลงวันที่ 16 มิถุนายน 2530 ให้กรมป่าไม้พิจารณาจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติภูเวียง

กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือที่ กษ.0713/713 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2530 เสนอกรมป่าไม้มีคำสั่งที่ 1162/2530 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2530 ให้นายอุดม ยกฉวี เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ไปทำการสำรวจเบื้องต้นป่าภูเวียง และบริเวณป่าใกล้เคียงเป็นอุทยานแห่งชาติ และได้รับรายงานตามหนังสือที่ กษ 0713/พิเศษ ลงวันที่ 11 กันยายน 2530 ว่า พื้นที่ป่าดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียงมีแหล่งท่องเที่ยวและจุดเด่นทาง ธรรมชาติหลายแห่งและมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เหมาะ สมที่จะดำเนินการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติจึงได้มีหนังสือที่ กษ 0713/1064 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2530 เสนอกรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 1643/2530 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2530 ให้นายอุดมศักดิ์ สุพรรณพงศ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ไปดำเนินการจัดตั้งพื้นที่บริเวณป่าภูเวียงและพื้นที่ป่าบริเวณใกล้เคียง ในท้องที่อำเภอภูเวียง อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งอุทยานแห่งชาติภูเวียงได้มีหนังสือที่ กษ 0713(ภว.)/40 ลงวันที่ 2 เมษายน 2531 รายงานผลการสำรวจ เพื่อกำหนดพื้นที่ในการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติให้กองอุทยานแห่งชาติพิจารณา ดำเนินการ

กรมป่าไม้ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติคราวประชุมครั้งที่ 3/2532 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2532 เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติได้ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าภูเวียง ในท้องที่ตำบลกุดธาตุ ตำบลในเมือง ตำบลบ้านโคก ตำบลเขาน้อย ตำบลขนวน ตำบลบ้านเรือ ตำบลเมืองเก่าพัฒนา ตำบลสงเปือย ตำบลนาชุมแสง อำเภอภูเวียง ตำบลวังเพิ่ม ตำบลศรีสุข ตำบลนาจาน อำเภอสีชมพู และตำบลวังหินลาด ตำบลหนองเสาเล้า ตำบลหนองไผ่ และตำบลขัวเรียง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น พื้นที่ประมาณ 203,125 ไร่ หรือ 325 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108 ตอนที่ 215 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2534 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 71 ของประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ

อุทยาน แห่งชาติภูเวียง มีลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาล้อมเป็นวงอยู่ 2 ชั้น ตรงกลางเป็นแอ่งขนาดใหญ่ คล้ายแอ่งกระทะซึ่งเป็นที่ราบและลอนลาด ส่วนพื้นที่โดยรอบแอ่งมีลักษณะเป็นเทือกเขาซึ่งมีมุมเทเข้าหาใจกลางแอ่ง ประกอบด้วยเทือกเขาที่มีความลาดชันปานกลางถึงลาดชันสูง เทือกเขาชั้นนอกสุดมียอดเขาสูงสุด 844 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพื้นที่ และเทือกเขาชั้นในมียอดเขาสูงสุด 470 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง บริเวณทิศเหนือของพื้นที่เทือกเขาชั้นในนี่เองที่เป็นแหล่งฟอสซิลไดโนเสาร์ ส่วนระดับต่ำสุดของเชิงเขาอยู่ระดับ 210 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

อุทยานแห่งชาติภูเวียงตั้งอยู่บนที่ราบสูงโคราชมีลักษณะเป็นหินชั้น ซึ่งเกิดจากการสะสมตัวของตะกอนบนแผ่นดินหนากว่า 4,000 เมตร ชั้นของหินตะกอนมักมีสีแดงเกือบทั้งหมดเรียกว่าหินชั้นตะกอนแดง หรือกลุ่มหินโคราช ประกอบด้วย หน่วยหินเขาพระวิหาร หินเสาขัว หินภูพาน และหินโคกกรวด หินดังกล่าวถูกปกคลุมด้วยตะกอนร่วนและดินยุคควอเทอร์นารี่ และยุคปัจจุบัน ซึ่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเวียงนั้นยังมีการสำรวจสายแร่ยูเรเนียมใน พื้นที่อีกด้วย อุทยานแห่งชาติภูเวียงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของห้วยทรายขาวซึ่งจะไหลลงลำน้ำ พอง ห้วยบั้งทิ้ง ห้วยน้ำไหล ซึ่งจะไหลลงลำน้ำเชิญ ห้วยเรือ ห้วยขุมปูน ห้วยน้ำบอง และห้วยมะนาว ซึ่งจะไหลลงห้วยบอง ทั้งลำน้ำพอง หัวยบอง และลำน้ำเชิญ จะไหลลงอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ 
ลักษณะภูมิอากาศ

อุทยานแห่งชาติภู เวียงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ จึงแบ่งออกเป็น 3 ฤดู ดังนี้ ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในเดือนเมษายน 36.5 องศาเซลเซียส ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปี 1,199 มิลลิเมตร ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนธันวาคม 16.6 องศาเซลเซียส

พืชพรรณและสัตว์ป่า

สภาพป่าบริเวณอุทยานแห่ง ชาติภูเวียงแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ ป่าดิบแล้ง ซึ่งมีพื้นที่มากที่สุด รองลงมาได้แก่ ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ

ป่าดิบแล้ง ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ทางตอนเหนือของเขตอุทยานแห่งชาติ และบริเวณลำธาร พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะเคียนหิน ชิงชัน พะยูง สมพง กระบก มะค่าโมง เขลง คอแลน ปอแดง สะแกแสง ฯลฯ พืชพื้นล่างและพืชอิงอาศัย ได้แก่ เอื้องหมายนา จันผา ขมิ้นโคก กระเจียวขาว ชายผ้าสีดา เอื้องแปรงสีฟัน เอื้องเขาแกละ นางอั้ว และกล้วยไม้ดง เป็นต้น

ป่าเต็งรัง ขึ้นปกคลุมตามเชิงเขาบริเวณต่ำกว่าป่าดิบแล้ง กระจายตัวอยู่บริเวณภูประตูตีหมา และแนวภูเขาต่อเนื่องรอบในของเทือกเขาภูเวียง และกระจายตัวอยู่เชิงเขารอบนอกเทือกเขาภูเวียง พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ยางกราด เหียง พลวง เต็ง รัง ยอป่า มะเกลือกา สมอ ตีนนก ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ เอื้องหมายนา หญ้าเพ็ก มะลิป่า เปราะ กระเจียว เฟินแผง และเฟินก้านดำ เป็นต้น

ป่าเบญจพรรณ อยู่ระหว่างรอยต่อของป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง และปะปนอยุ่ในป่าเต็งรังบ้าง กระจายตัวในพื้นที่บางส่วนบริเวณภูประตูตีหมาและเชิงเขารอบนอกเทือกเขาภู เวียง พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ประดู่ เสลา ตะแบกใหญ่ รัก รกฟ้า ทองหลางป่า แคทราย และตีนนก ฯลฯ

สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในผืนป่าภูเวียงประกอบด้วย หมูป่า สุนัขจิ้งจอก ลิงวอก อีเห็นข้างลาย กระต่ายป่า กระรอกหลากสี กระจ้อน กระรอกบินเล็กแก้มขาว กระแตเหนือ กระรอกบิน ค้างคาวปากย่น หนูท้องขาว หนูจิ๊ด นกเป็ดผีเล็ก เป็ดแดง เหยี่ยวขาว เหยี่ยวนกเขาชิครา ไก่ป่า นกกระทาทุ่ง นกคุ่มอกลาย นกกวัก นกกระแตแต้แว้ด นกเขาเปล้าธรรมดา นกพิราบป่า นกเขาไฟ นกแขกเต้า นกบั้งรอกใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกฮูก นกเค้าแมว นกตะขาบทุ่ง นกโพระดกธรรมดา นกแอ่นตาล นกนางแอ่นบ้าน นกปรอดเหลืองหัวจุก นกแซงแซวหางปลา นกกินแมลงอกเหลือง นกกระจิบหญ้าอกเทา นกกางเขนบ้าน นกเอี้ยงสาริกา นกกินปลีอกเหลือง จิ้งจกหางแบน ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าหัวแดง แย้ จิ้งเหลนหลากหลาย จิ้งเหลนบ้าน งูจงอาง คางคกบ้าน เขียดจะนา กบบัว กบอ่อง กบนา กบหนอง ปาดบ้าน อึ่งอ่างก้นขีด อึ่งอ่างบ้าน อึ่งน้ำเต้า ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีปลาน้ำจืดอีกหลายชนิดอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติของอุทยาน แห่งชาติภูเวียง เช่น ปลาช่อน ปลาดุกด้าน ปลาหมอไทย ปลาหลด ปลาไหล ปลาอีด ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาซิวหนวดยาว ปลาบู่ทราย ปลาแขยงใบข้าว และปลากดขาว เป็นต้น

โบราณชีววิทยา
ในปี พ.ศ. 2519 นักธรณีวิทยาจากโครงการสำรวจแหล่งยูเรเนียม กรมทรัพยากรธรณีได้พบซากไดโนเสาร์ครั้งแรกของประเทศไทยที่ภูเวียง จากนั้นจึงได้ทำการศึกษาและสำรวจเพิ่มเติม จนพบแหล่งซากกระดูกไดโนเสาร์ถึง 9 แหล่ง ความสำคัญของซากกระดูกไดโนเสาร์ที่ภูเวียง คือ เป็นสกุลและชนิดใหม่หลายชนิด เช่น ไดโนเสาร์กินพืชภูเวียง (Phuwiangosaurus sirindhornae) ไดโนเสาร์กินเนื้อ (Siamotyrannus isanensis และ Siamosaurus suteethoni) และไดโนเสาร์นกกระจอก เทศ (Ginareemimus) สามารถจำแนกรายละเอียดได้ดังนี้

• ไดโนเสาร์ในหินหมวดพระวิหาร เป็นร่องรอยไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย โดยคิดเป็นอายุประมาณ 160 ล้านปี โดยพบบริเวณลานหินลาดป่าชาด เป็นรอยไดโนเสาร์หลายชนิดจำนวนมากกว่า 60 รอย บนผิวหน้าของชั้นหินทรายเนื้อละเอียดสีขาว เป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์กินเนื้อเป็นอาหาร เดินด้วย 2 ขาหลัง เคลื่อนไหวได้ว่องไว มีขนาดเล็กตระกูลซีลูโรซอร์ และรอยเท้าของไดโนเสาร์ขนาดใหญ่พวกคาร์โนซอร์

• ไดโนเสาร์ในชั้นหินหมวดเสาขัว เป็นซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ชิ้นแรกที่พบในอุทยานแห่งชาติภูเวียง บริเวณห้วยประตูตีหมา ซึ่งมีอายุประมาณ 150 ล้านปี และชิ้นอื่นๆ ที่พบบนยอดภูประตูตีหมา มีลักษณะใกล้เคียงกับไดโนเสาร์ซอโรพอดคาเมราซอรัส ยุคจูแรสสิก ยาวถึง 15 เมตร คอยาว หางยาว เดินด้วย 4 เท้า กินพืชเป็นอาหาร

ไดโนเสาร์ที่พบในเขตอุทยานแห่งชาติภูเวียงมีหลายพันธุ์ด้วยกัน เช่น พันธุ์ไซแอมโมซอรัส เป็นไดโนเสาร์เทอโรพอดสกุลใหม่และชนิดใหม่ พันธุ์คาร์โนซอร์ เป็นไดโนเสาร์เทอโรพอดขนาดใหญ่ พันธุ์คอมพ์ซอกนาธัส เป็นไดโนเสาร์ซีลูโรซอร์ขนาดจิ๋ว ตัวเท่าไก่ และพันธุ์ไดโนเสาร์ซอโรพอดชนิดใหม่ เป็นซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย มีคอยาว หางยาว เดินด้วย 4 เท้า กินพืชเป็นอาหาร